อาเซียน (ASEAN)
อาเซียนถือเป็นความสำเร็จทางการทูตที่เริ่มต้นจากความคิดของคนไทย โดยอาเซียนเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 จากแนวคิดของ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในสมัยนั้น โดยผู้แทนของประเทศภาคีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มาประชุมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี
ในการประชุมครั้งนั้น ดร.ถนัดได้เสนอให้มีการรวมตัวสร้างเป็นสมาคมประชาชาติแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations - ASEAN) ส่งผลให้ อาเซียน (ASEAN) ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (วันอาเซียน) ในวันนั้นมีการลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ (ปฏิญญาอาเซียน) ที่พระราชวังสราญรมย์ โดยมีผู้แทนจากประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ ร่วมลงนามคือ
1. นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศอินโดนีเซีย) |
2. นายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย) |
3. นายนาร์ซิโซ รามอส (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศฟิลิปปินส์) |
4. นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศสิงคโปร์) |
5. พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศไทย) |
![]() |
ผู้แทนจาก 5 ประเทศลงนามก่อตั้งอาเซียน |
การก่อตั้งอาเซียนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง การสร้างสรรค์ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดีบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผล ประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก
ปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกแล้วถึง 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิก ลำดับที่ 1-5 ไทย อินโดนีเซีย มาเลยเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510)
สมาชิกลำดับที่ 6 บรูไนดารุสซาลาม (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2527) |
สมาชิกลำดับที่ 7 เวียดนาม (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2538) |
สมาชิกลำดับที่ 8-9 ลาว และเมียนมาร์ (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ. 2540) |
สมาชิกลำดับที่ 10 กัมพูชา (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542) |
ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการใหญ่อาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
จำนวนสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศของอาเซียนนั้น คิดเป็นจำนวนประชากร ราว 600 ล้านคน หรือเกือบ 10 เปอร์เช็นต์ของประชากรทั้งหมดที่มีในโลก นอกจากนั้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งยังอยู่ใกล้กับประเทศจีน และอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก ส่งผลให้อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่น่าสนใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก
นอกจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศแล้ว อาเซียนยังมีประเทศคู่เจรจา (Dialogue partners) ที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทุกๆด้านอย่างค่อนข้างใกล้ชิดอีก 9 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือยูเอ็น)