header-photo

asean-info.com

 

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) - ความเป็นมา/การจัดทำ

อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยตราสารที่เรียกว่า ปฏิญญาอาเซียน หรือที่รู้จักกันในนาม ปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) โดยการก่อตั้งนั้นจำต้องอาศัยรูปแบบความร่วมมือเชิงมิตรภาพในประเทศสมาชิก และเลี่ยงการกำหนดสิทธิ หน้าที่ ในทางกฏหมายระหว่างประเทศ

 

ระยะเวลาที่ผ่านมา อาเซียนถือเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยินยอม และความสมัครใจของสมาชิกเป็นหลัก การตัดสินใจใดๆอาศัยหลักการของ การหารือ ปรึกษากันในหมู่ประเทศสมาชิกเพื่อให้บรรลุซึ่งฉันทามติ และ ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการอ้างสิทธิหน้าที่ และแทรกแซงทางการเมืองภายในระหว่างประเทศ (non intervention) ซึ่งรู้จักกันในแนวปฏิบัติแบบ "The Asean Way" คือ ร่วมมือกันโดยปราศจากความขัดแย้งรุนแรง แม้ว่า แต่ละประเทศจะมีระบบการปกครอง กฏหมาย และประชากรที่ค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้น เมื่ออาเซียนมิได้มุ่งที่จะนำกฏหมายระหว่างประเทศ มาเป็นฐานในการดำเนินการ จึงมิได้มีการจัดทำสนธิสัญญา หรือกฏบัตรอาเซียนมาตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตามหลังจากผู้นำอาเซียนเห็นพ้องต้องกัน และลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declarion of ASEAN Concord II หรือ Bali Concord II) ที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community - AC) และหลังจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 ที่กรุงเวียงจันทน์ ผู้นำของประเทศสมาชิกได้ลงนามสนับสนุนให้มีการจัดทำกฏบัตรอาเซียน เพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมอาเซียน

 

ในการจัดทำกฏบัตรอาเซียนนั้น ดำเนินการโดยมอบหมายให้ "คณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Persons Group) ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการต่างประเทศจากประเทศสมาชิก เป็นผู้จัดทำข้อเสนอแนะเบื้องต้นและลักษณะทั่วไปของกฏบัตรอาเซียน และหารือกันจนได้ข้อเสนอเบื้องต้นและจัดทำออกมาในรูปแบบของ "รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่องกฏบัตรอาเซียน" ในเดือนธันวาคม 2549 หลังจากนั้น ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนมกราคม ปี 2550 ที่กรุงเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ เหล่าผู้นำที่เข้าร่วมก็ได้ลงนามรับรองรายงานดังกล่าว และได้มอบหมายให้คณะทำงานระดับสูง (High Level Task Force) ซึ่งประกอบ ไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญจากแต่ละประเทศสมาชิกเป็นผู้รับผิดชอบ จัดทำร่างกฏบัตรอาเซียน และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องพร้อมเพื่อนำเข้า พิจารณาในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ในเดือน พฤศจิกายน ปี 2550

หลังจากผ่านการตรวจสอบ ปรึกษาหารือ รับฟังความเห็นกันระหว่างประเทศสมาชิก วันที่ 15 ธันวาคม ปี 2551 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกได้ลงนามรับการประกาศใช้ กฏบัตรอาเซียน อย่างเป็นทางการ