อาเซียนหารืองดเชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่าร่วมประชุมซัมมิท เหตุไร้คืบหน้าฟื้นฟูสันติภาพ
|
6 ตุลาคม 2564 :ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังหารือที่จะไม่เชิญผู้นำรัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในปลายเดือนนี้ เนื่องจากขาดความคืบหน้าตามฉันทมติที่ตกลงกันไว้ในการฟื้นฟูสันติภาพในประเทศที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทูตของภูมิภาคกล่าววันนี้ (6)
การนิ่งเฉยของรัฐบาลทหารต่อฉันทมติ 5 ข้อ ที่พม่าได้ตกลงกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในเดือน เม.ย. เทียบเท่ากับการถอยหลัง เอรีวัน ยูซอฟ ทูตพิเศษกิจการพม่าของอาเซียน กล่าวแถลงข่าว
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่ยุติระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษ และหวนกลับสู่การปกครองของทหาร ที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เอรีวัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ที่เป็นประธานอาเซียน กล่าวว่า กลุ่มกำลังหารืออย่างเข้มข้นเกี่ยวกับการเชิญรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเสมือนจริงในวันที่ 26-28 ต.ค. หลังประเด็นดังกล่าวถูกยกขึ้นหารือโดยมาเลเซียและประเทศสมาชิกบางประเทศ
“จนถึงวันนี้ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการดำเนินการตามฉันมติ 5 ข้อ และประเด็นนี้ได้ถูกยกขึ้นหารือ” เอรีวัน กล่าว
ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่าไม่ตอบรับสายจากรอยเตอร์ในวันนี้ แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้กล่าวในการแถลงข่าวว่าพม่ากำลังร่วมมือกับอาเซียนโดยไม่ให้กระทบกับอธิปไตยของประเทศ
ความพยายามของกลุ่มที่จะมีส่วนร่วมกับกองทัพพม่า ถูกผู้สนับสนุนประชาธิปไตยวิพากษ์วิจารณ์ โดยกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของอาเซียนจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร
อย่างไรก็ตาม การยกเว้นผู้นำจากการประชุมสุดยอดจะเป็นขั้นตอนสำคัญของอาเซียน ที่ดำเนินการภายใต้หลักการตัดสินใจอย่างเป็นเอกฉันท์และการมีส่วนร่วมมากกว่าการเผชิญหน้ากับประเทศสมาชิก
เอรีวัน กล่าวว่า รัฐบาลทหารไม่ได้ตอบสนองโดยตรงต่อคำร้องของเขาเกี่ยวกับการพบหารือกับอองซานซูจี ที่รัฐบาลของเธอถูกโค่นล้มในการรัฐประหาร
เขาเสริมว่าเขาได้เสนอแผนการเยือนพม่าของเขาต่อวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลทหารยังไม่ตอบสนอง
ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดกับรัฐบาลมาเลเซียกล่าวว่า ทูตอาเซียนไม่มีแนวโน้มที่จะได้เดินทางเยือนพม่าก่อนการประชุมสุดยอดตามที่กลุ่มตั้งเป้าไว้ในตอนแรก
สหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร มีประชาชนเสียชีวิตมากกว่า 1,100 คน โดยหลายคนถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารระหว่างการปราบปรามการชุมนุมและผละงานประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และอีกหลายพันคนถูกควบคุมตัว แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวสูงเกินจริงและสมาชิกของกองกำลังความมั่นคงก็ถูกสังหารเช่นเดียวกัน
แผนการดำเนินการของอาเซียนยังรวมถึงความมุ่งมั่นในการเปิดการเจรจากับทุกฝ่าย การอนุญาตเข้าถึงด้านมนุษยธรรม และการยุติการสู้รบ
การปกครองระบอบเผด็จการทหารและการถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่าเป็นประเด็นยุ่งยากที่สุดของอาเซียน ที่ทดสอบขีดจำกัดของความเป็นเอกภาพของกลุ่มและนโยบายไม่แทรกแซงของกลุ่ม
แต่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเสมือนจริงเมื่อวันจันทร์ (4) ได้แสดงความผิดหวังต่อการขาดความคืบหน้าของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) โดยไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียระบุในทวิตเตอร์ว่า หากไม่มีความคืบหน้าคงเป็นเรื่องยากจะที่มีประธานของสภาบริหารแห่งรัฐอยู่ในการประชุมสุดยอดอาเซียน และเขาได้ย้ำถึงจุดยืนนี้ในรัฐสภาในวันพุธ (6) และกล่าวว่าทูตอาเซียนกำลังทำทุกอย่างที่เป็นไปได้เพื่อให้แผนงานมีความคืบหน้า. |
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์ |
กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน