header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

กัมพูชาลุ้นอุตสาหกรรมสิ่งทอฟุบหรือฟื้น หลังเสียสิทธิปลอดภาษี-โควิดระบาด

ASEAN News

1 มกราคม 2564 :อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้ามูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์ของกัมพูชา นายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่จ้างแรงงานราว 800,000 คน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และการกำหนดอัตราภาษีของสหภาพยุโรปจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

สินค้าส่งออกบางอย่างของกัมพูชาสูญเสียการเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปแบบปลอดภาษีเมื่อเดือน ส.ค.2563 หลังจากสหภาพยุโรปส่งสัญญาณไม่พอใจการปราบปรามฝ่ายค้าน ภาคประชาสังคม และสื่อที่เกิดขึ้นในประเทศ

นอกจากสิทธิแรงงานจะไม่ได้รับการส่งเสริมมากนัก การระบาดของไวรัสยิ่งทำให้สหภาพแรงงานตามโรงงานต่างๆ ต้องล้มหาย ขณะเดียวกัน ค่าแรงและเงื่อนไขต่างๆ สำหรับคนงานที่ยังอยู่ในตำแหน่งก็ย่ำแย่ลง

แม้ทางการกัมพูชาจะออกความช่วยเหลือบางอย่างให้แก่แรงงานเสื้อผ้าที่ตกงาน แต่คนงานและผู้สนับสนุนสิทธิแรงงานกล่าวว่า ยังไม่เพียงพอและเข้าถึงความช่วยเหลือดังกล่าวได้ยาก

ในปี 2563 ที่ผ่านมา คนงานหลายล้านคนในห่วงโซ่อุปทานเสื้อผ้าต้องตกงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นทั่วโลก

 

คนงานกัมพูชามีค่าแรงที่นายจ้างค้างจ่ายมากกว่า 120 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 3 เดือนแรกของการระบาด ตามการระบุขององค์กร Labour Behind the Label ที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น

การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ที่ตามปกติแล้วจะมีมูลค่าราว 5,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี ลดลงไปเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563

แบรนด์ระดับโลก รวมถึง Adidas และ Levi Strauss ได้เรียกร้องให้กัมพูชาปฏิรูปและถอนข้อหาที่ฟ้องร้องแกนนำสหภาพแรงงาน แต่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่อยู่ในอำนาจมานาน 35 ปี กล่าวว่า ประเทศจะไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่ข้อเรียกร้องความต้องการของต่างชาติ

เบนท์ เกรต์ ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสภาองค์กรสิทธิแรงงาน ที่มีสำนักงานในสหรัฐฯ ระบุว่า ปี 2563 ถือเป็นปีที่โหดร้ายสำหรับคนงานตัดเย็บเสื้อผ้า

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของกัมพูชา

เคน ลู เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าในกัมพูชา ที่เป็นตัวแทนของเจ้าของโรงงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า มีโรงงานอย่างน้อย 110 แห่ง ปิดตัวลงถาวรเนื่องจากสูญเสียคำสั่งซื้อ ส่วนโรงงานที่เหลือก็ยังไม่รู้ชะตากรรม แต่สถานการณ์จะชัดเจนขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกประจำปี 2564

ลู กล่าวว่า อุตสาหกรรมเสื้อผ้ากัมพูชา อยู่ในตำแหน่งที่สามารถฟื้นตัวได้ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในปี 2563 และยังมีโรงงานจดทะเบียนใหม่มากกว่า 60 แห่ง นอกจากนั้น กัมพูชายังมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดน้อยกว่าศูนย์กลางการผลิตแห่งอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น พม่าที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทะลุ 100,000 คน แต่กัมพูชามีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไม่ถึง 500 คน

“ดูทางเลือกอื่นเช่นพม่าเป็นตัวอย่าง โควิดยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งนี่จะเป็นปัจจัยสำหรับนักลงทุนในอนาคต” เคน ลู กล่าว

ลู กล่าวว่า เขายังมองแง่ดีเกี่ยวกับการค้ากับอังกฤษหลังแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ที่จะช่วยให้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอังกฤษแบบปลอดภาษี

“ผมไม่ได้บอกว่ามันจะสร้างความแตกต่างไปทั้งหมด แต่ผมไม่คิดว่าเราอยู่ในจุดที่แย่” ลู กล่าว

แต่บริษัท H&M ที่มีโรงงานประมาณ 50 แห่งในกัมพูชา กล่าวว่า การผลิตในกัมพูชากลายเป็นปัญหาเพราะภาษีที่เพิ่มขึ้น สิทธิแรงงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในถ่านหิน

“ประเทศผู้ผลิตที่ยังคงมองว่าถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอนาคต อาจสูญเสียการลงทุนในอนาคตได้” ผู้จัดการประจำกัมพูชาของ H&M กล่าว

แม้ทางการกัมพูชามีกำหนดปรับค่าแรงขั้นต่ำให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์ เป็น 192 ดอลลาร์ต่อเดือนในเดือน ม.ค. แต่ตัวเลขนี้ยังคงต่ำกว่าค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ 588 ดอลลาร์ ซึ่งคำนวณโดยกลุ่มพันธมิตรรณรงค์ฐานค่าจ้างแห่งเอเชีย

ยาง โสพน ประธานกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานกัมพูชา กล่าวว่า สำหรับชาวกัมพูชาที่ยังมีงานทำ การแข่งขันผลักดันให้พวกเขาต้องยอมลดเงื่อนไข และสหภาพแรงงานก็ยังตกเป็นเป้าเช่นเดิม.
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน