header-photo

asean-info.com

 

ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC)

 

อาเซียน (ASEAN) ในการก่อตั้งช่วงต้นเป็นเรื่องของผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะ กล่าวคือเป็นเวทีให้ผู้นำ เช่น นักการทูต รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีของประเทศต่างๆมาพูดคุย เจรจากัน หลังจากก่อตั้ง อาเซียนนานถึง 9 ปี จึงได้มีการริเริ่มให้จัดการประชุมระดับสูงร่วมกัน โดยในปี พ.ศ. 2519 มีการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit ขึ้นเป็นครั้งแรก ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ มีการพูดถึงความพยายามทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างชัดเจน จากที่อยู่กันแบบหลวมๆมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510

 

จากสภาพการแข่งขัน ทางเศรษฐกิจโลกที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น การจับกลุ่มร่วมมือ กันระหว่างประเทศดูจะเป็นทางออกสำหรับการอยู่รอดบนเวทีโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิด การรวมกลุ่มกันระหว่างประเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ร่วมกันด้านอื่นๆ รวมถึงเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีนานาชาติ ตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันของกลุ่มงประเทศในยุโรป จนเกิดเป็น สหภาพยุโรป (European Union - EU)

ด้วยแนวคิดการรวมกลุ่มระหว่างประเทศนี้ ทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2546 เหล่าผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันลงนามใน "ปฏิญญา ว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน 2" หรือ "ความร่วมมือบาหลี 2" ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community - AC) และมีการประกาศใช้กฏบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ขึ้น

 

การจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community - AC) จะทำให้ประเทศในกลุ่มสมาชิก ทั้ง 10 ประเทศ เกิดความร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข็มแข็งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยวางแผนที่จะดำเนินการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในเวทีเศรษฐกิจระดับประเทศ ส่งผลให้การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 12 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามใน Cebu Declaration on The Acceleration of the Establishment of an ASEAN Community by 2015 เพื่อร่นระยะเวลาจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ.2015) หรือเร็วขึ้นอีก 5 ปีนั่นเอง