header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

สิงคโปร์เตรียมยกเลิก กม.ห้าม ‘เกย์’ มีเซ็กซ์ แต่ยังไม่อนุญาต ‘สมรสเพศเดียวกัน’

ASEAN News

22 สิงหาคม 2565 :  นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง แห่งสิงคโปร์ ประกาศวานนี้ (21 ส.ค.) ว่า รัฐบาลสิงคโปร์เตรียมจะยกเลิกกฎหมายอาญาที่ห้ามชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ทว่ายังไม่มีแผนอนุญาตการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน

กลุ่มนักเคลื่อนไหว LGBTQ ได้ออกมาชื่นชมการตัดสินใจนายกฯ ลี ที่จะยกเลิกมาตรา 377A ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดบทลงโทษสำหรับการมีเซ็กซ์ระหว่างผู้ชาย แต่ก็แสดงความกังวลว่า ผู้นำสิงคโปร์ยังคงปฏิเสธที่จะแก้ไขคำนิยามของการสมรสให้ครอบคลุมคู่รักเพศเดียวกัน และนั่นแปลว่าการแบ่งแยกกีดกันยังไม่หมดไปเสียทีเดียว

ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชาติสิงคโปร์ ลี ระบุว่า สังคมสิงคโปร์ทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวมีแนวคิดเปิดกว้างและยอมรับผู้ที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกันมากขึ้น

“ผมเชื่อว่านี่คือการกระทำที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ยอมรับได้” นายกฯ ลี กล่าว

ทั้งนี้ ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่ามาตรา 377A จะถูกยกเลิกเมื่อใด

สิงคโปร์ถือเป็นประเทศล่าสุดในเอเชียที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การยกเลิกกฎหมายกีดกัน LGBTQ โดยก่อนหน้านี้ ศาลสูงสุดอินเดียก็มีคำพิพากษายกเลิกกฎหมายห้ามการมีเซ็กซ์ระหว่างผู้ชายเมื่อปี 2018 ส่วนประเทศไทยเองกำลังมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต

กฎหมายอาญามาตรา 377A ของสิงคโปร์กำหนดระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี สำหรับการมีเซ็กซ์ระหว่างชายและชาย ทว่าไม่ได้มีการบังคับใช้จริงมานานหลายสิบปีแล้ว อีกทั้งกฎหมายนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงเซ็กซ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง หรือเพศทางเลือกอื่นๆ

 

องค์กรเพื่อสิทธิ LGBTQ หลายกลุ่มได้ออกคำแถลงร่วมเมื่อวันอาทิตย์ (21) โดยระบุว่ารู้สึก “โล่งใจ” กับคำประกาศของนายกฯ

“สำหรับทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ถูกบูลลี่ ถูกปฏิเสธ และถูกคุกคามจากกฎหมายนี้ การยกเลิกมันไปในที่สุดจะช่วยให้พวกเราสามารถเริ่มต้นกระบวนการเยียวยา และสำหรับใครก็ตามที่ปรารถนาให้สิงคโปร์เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมและหลอมรวมมากขึ้น การยกเลิกกฎหมายนี้ถือเป็นสัญญาณว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง” คำแถลงร่วมระบุ

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงฉบับนี้ยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์หยุดฟังเสียงของพวกอนุรักษนิยมเคร่งศาสนาที่ต้องการให้คงนิยามของการสมรสในรัฐธรรมนูญว่าหมายถึงการแต่งงานระหว่าง “ผู้ชายกับผู้หญิง” เท่านั้น เพราะนั่นถือเป็นการบ่งบอกกลายๆ ว่าพลเมือง LGBTQ ไม่มีสิทธิเท่าเทียมในด้านนี้

กระแสต่อต้านการยกเลิกมาตรา 377A มีมาโดยตลอดเช่นกัน โดยเมื่อเดือน ก.พ. ศาลสูงสุดสิงคโปร์มีคำตัดสินว่า เนื่องจากกฎหมายนี้ไม่ได้ถูกบังคับใช้จริงมานานแล้ว จึงไม่ถือว่าละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ฝ่ายผู้ร้องเรียนอ้าง ขณะที่นายกฯ ลี เองยอมรับว่า มีกลุ่มองค์กรมุสลิม คาทอลิก และโปรเตสแตนต์บางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 377A

ล่าสุด กลุ่มพันธมิตรโบสถ์คริสต์กว่า 80 แห่งได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อถ้อยแถลงของนายกฯ สิงคโปร์เมื่อวานนี้ (21) โดยบอกว่า “เป็นการตัดสินใจที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง และจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมที่ลูกหลานและเยาวชนรุ่นหลังของสิงคโปร์จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในภายภาคหน้า”

สิงคโปร์เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีคนต่างเชื้อชาติและศาสนาราว 5.5 ล้านคนอาศัยอยู่รวมกัน ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและคริสต์ และมีชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 16% ส่วนในแง่เชื้อชาติประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน รองลงมาได้แก่ คนมาเลย์ และคนเชื้อสายอินเดีย ตามข้อมูลสถิติประชากรในปี 2020

นายกฯ ลี ย้ำว่า การยกเลิกมาตรา 377A จะเป็นไปอย่างควบคุมและระมัดระวังที่สุด และรัฐบาลยังคงสนับสนุนการแต่งงานในความหมายดั้งเดิม และจะคัดค้านความพยายามฟ้องศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงนิยามการสมรสในรัฐธรรมนูญ

“เราเชื่อว่าการแต่งงานควรเกิดขึ้นระหว่างชายและหญิง และเด็กๆ ควรได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวลักษณะนี้ และเราเชื่อว่าครอบครัวในความหมายดั้งเดิมยังควรที่จะเป็นรากฐานสำหรับการสร้างสังคมต่อไป” ลี กล่าว

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน