header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ทางรถไฟลาว-เวียดนาม ยาว 555 กม. เปิดทางออกทะเลที่ท่าเรือหวุงอ๋าง เริ่มสร้าง พ.ย.65

ASEAN News

16 มีนาคม 2565 : หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์ มีรายงานว่า นายจันทอน สิดทิไซ รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว ได้กล่าวต่อนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว ซึ่งได้นำคณะไปดูงานของบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว-เวียดนาม จะเริ่มต้นได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่จะถึงนี้

ทางรถไฟสายนี้ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจุดเริ่มต้นจากโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค นครหลวงเวียงจันทน์ คู่ขนานไปตามแนวถนนสาย 13 (ใต้) ผ่านแขวงบ่ลิคำไซ เลี้ยวซ้ายไปทางตะวันออกที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ จังหวัดกว๋างบิ่ญ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์

ทางรถไฟสายนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการตามแผนยุทธศาสตร์ Laos Logistics Link ซึ่งบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว (มหาชน) ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลลาวและเวียดนามให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยอีก 2 โครงการ ได้แก่ เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และการเข้าบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม

บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้รับสัมปทานโครงการเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค จากรัฐบาลลาวเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ให้สร้างเป็นด่านสากล ท่าบก (dry port) และศูนย์ขนถ่ายสินค้าครบวงจร บนพื้นที่ 382 เฮกตาร์ (2,387 ไร่) ที่ท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานีรถไฟท่านาแล้งที่เชื่อมกับสถานีหนองคาย ต้นทางของโครงข่ายทางรถไฟไทย กับสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ปลายทางของเส้นทางรถไฟลาว-จีน

โครงการนี้ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุสัมปทาน 50 ปี สร้างเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่รถไฟลาว-จีน เริ่มวิ่งให้บริการเป็นวันแรก

โครงการต่อมาได้แก่การเข้าไปบริหารและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ซึ่งบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้ร่วมทุนกับกระทรวงการเงินของลาว ในสัดส่วน 49 : 51 ตั้งรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนามขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเตรียมวงเงินสำหรับการพัฒนาไว้ 280 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลเวียดนามได้สร้างท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างตั้งแต่ปี 2549 อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร ชายทะเลภาคกลางค่อนขึ้นไปทางเหนือของเวียดนาม ภายในท่าเรือ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ 3 แห่ง รองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกได้ 46,000 เดทเวทตัน ทั้งแบบตู้คอนเทนเนอร์ และแบบเทกอง

โดยท่าเทียบเรือ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร มีคลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร ท่าเทียบเรือ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร และท่าเทียบเรือ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร ลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร

 

ในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลลาวและเวียดนามได้ตกลงจะร่วมกันบริหารท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในฐานะท่าเรือ “ลาว-เวียด” เพื่อเป็นทางออกสู่ทะเลให้สินค้าแร่ธาตุ และผลผลิตทางการเกษตรของลาว โดยมีการจัดตั้งบริษัท Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้น มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง ฝ่ายเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20%

ต่อมาในยุคของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้เสนอขอเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของลาวใน Laos-Vietnam Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้นเป็น 60% โดยให้ฝ่ายเวียดนามลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40% เพื่อให้ลาวได้เข้าเป็นผู้บริหารท่าเรือแห่งนี้แบบเต็มตัว

รัฐบาลเวียดนามได้ตกลงที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงตามที่ฝ่ายลาวขอ โดยมีการลงนามในเอกสารข้อตกลงในคราวที่นายกรัฐมนตรีพันคำ วิพาวัน ไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และรัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม เตรียมเข้าบริหารท่าเรือหวุงอ๋างในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนทางรถไฟลาว-เวียดนามนั้น กระทรวงโยธาธิการและขนส่งของลาว ได้เซ็น MOU ให้บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นผู้ออกแบบรายละเอียดทางรถไฟสายนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ต่อมา วันที่ 9 ตุลาคม 2563 บริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ได้จ้างบริษัท National Consulting Group ซึ่งเคยจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเส้นทางรถไฟลาว-จีน ให้มาเป็นผู้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างละเอียด (ESIA) ให้โครงการทางรถไฟลาว-เวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามได้ให้ FLC Group 1 ใน 10 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม และเป็นเจ้าของสายการบิน Bamboo Airways เป็นตัวแทนร่วมทุนกับบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ในโครงการทางรถไฟสายนี้

นายจันทอน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งรายละเอียดการก่อสร้างทางรถไฟให้กระทรวงโยธาธิการและขนส่งของทั้งลาวและเวียดนามพิจารณาแล้ว คาดว่าหน่วยงานรัฐ 2 ประเทศจะพิจารณาเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน และเสนอให้สภาแห่งชาติทั้งของลาวและเวียดนามอนุมัติการก่อสร้างได้ประมาณกลางปี

สำหรับนายจันทอน สิดทิไซ นอกจากเป็นรองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาวแล้ว ยังเป็นประธานบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว ประธานบริษัทเวียงจันทน์ โลจิสติกส์ ปาร์ค และผู้อำนวยการใหญ่ รัฐวิสาหกิจพัฒนาท่าเรือหวุงอ๋าง ลาว-เวียดนาม

ส่วนบริษัทปิโตรเลียม เทรดดิ้งลาว เป็นบริษัทในเครือพงสะหวัน กลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาว ซึ่งมีกิจการหลากหลาย ทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต สายการบิน บริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าไม้ มี ดร.ออด พงสะหวัน เป็นผู้ก่อตั้ง.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน