นายกฯสิงคโปร์เตือน‘คณะบริหารไบเดน’ อย่าแข็งกร้าวใส่‘จีน’
|
5 สิงหาคม 2564 :นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ กล่าวเตือนในวันอังคาร (4 ส.ค.) ว่า สหรัฐฯไม่ควรที่จะท้าทายอย่างก้าวร้าวใส่จีน โดยเขาบอกว่า ทัศนะแบบแข็งกร้าวซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของวอชิงตัน สามารถที่จะกลายเป็นสิ่งที่มี “อันตรายมาก”
นายกฯลี กล่าวว่า สหรัฐฯได้เคลื่อนตัวออกจากแบบแผนวิธีการที่มุ่งแข่งขันกับจีนอย่างชนิดมุ่งสร้างผลดีโดยรวมขึ้นมา และหันไปสู่การมีความคิดเห็นที่ว่า อเมริกัน “ต้องชนะ ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง”
“พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสอง (ของสหรัฐฯ) ในทุกวันนี้ มีฉันทามติเห็นพ้องต้องกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องความสัมพันธ์กับจีน” เขากล่าวในเวทีการประชุมความมั่นคงแอสเพน (Aspen Security Forum)
“ทว่าจุดยืนของพวกเขาคือการใช้แนวทางแข็งกร้าว และผมไม่แน่ใจเลยว่านี่เป็นฉันทามติที่ถูกต้องแล้ว” ผู้นำของสิงคโปร์บอก
“ผมไม่ทราบว่าฝ่ายอเมริกันจะตระหนักถึงความเป็นจริงหรือไม่ว่า พวกเขา (จีน) จะกลายเป็นปรปักษ์ที่น่าเกรงขามถึงขนาดไหนในการที่จะต้องรับมือ ถ้าหากพวกเขา (อเมริกัน) ตัดสินใจลงไปว่า จีนคือศัตรูรายหนึ่ง
“ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมจะขอพูดกับทั้งสองฝ่ายว่า (กดปุ่ม) “พอซ” เถอะ คิดกันให้รอบคอบก่อนที่พวกคุณจะ (กดปุ่ม) “ฟาสต์-ฟอร์เวิร์ด” มันมีอันตรายมาก” เขากล่าว
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสหรัฐฯและจีน ที่จะต้องเพียรพยายามเข้ามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความวิบัติหายนะแก่ทั้งสองฝ่าย และแก่โลกด้วย”
ลี ซึ่งมองเห็นกันว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในคณะผู้นำของทั้งสองประเทศ กล่าวว่า ทัศนะแบบแข็งกร้าวของวอชิงตันที่มีต่อจีนนั้น กำลังผสมโรงเข้ากันกับความเชื่อของฝ่ายจีนที่ว่า สหรัฐฯนั้นไม่สามารถไว้วางใจได้และต้องการที่จะสกัดกั้นการก้าวขึ้นมาของตน
เขายังวิพากษ์วิจารณ์การที่คณะบริหารไบเดนแสดงความแข็งกร้าวในการพบปะหารือทวิภาคีระดับสูงครั้งแรกกับฝ่ายจีนที่เมืองแองเคอเรจ รัฐอะแลสกา ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
“ความเป็นจริงก็คือไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่สามารถดูหมิ่นหมายบดขยี้อีกฝ่ายหนึ่งได้หรอก” เขากล่าว
แต่ ลี แสดงความยินดีในเรื่องที่คณะบริหารไบเดนหวนกลับมาสู่นโยบายการต่างประเทศ “ที่มีแบบแผนมากขึ้น” ภายหลังการใช้วิธีการที่ยุ่งเหยิงกระจัดกระจายของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์
“ประเทศต่างๆ กำลังเฝ้ามองหาความคงเส้นคงวาทางยุทธศาสตร์ระยะยาวจากสหรัฐฯ” เขาบอก และย้ำว่า มันหมายถึงนโยบายที่ “พึ่งพาอาศัยได้และคาดการณ์ทำนายล่วงหน้าได้”
เขากล่าวเน้นว่า ไต้หวันคือจุดที่มีศักยภาพจะกลายเป็นชนวนลุกลามได้มากเป็นพิเศษ
“ผมไม่คิดว่าพวกเขาต้องการที่จะเดินหมากตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” อย่างเช่นการเข้ารุกรานไต้หวัน ลีพูดโดยหมายถึงฝ่ายปักกิ่ง
“แต่ผมคิดว่ามีอันตราย (เกี่ยวกับเรื่องนี้) อันตรายที่ว่าคือการคาดคำนวณผิดอย่างใหญ่โตมโหฬาร”
เขาแสดงความซาบซึ้งสำหรับการที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน แสดงความเห็นเอาไว้ระหว่างอยู่ที่สิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ออสตินกล่าวเตือนคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมของสถานการณ์ไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดก็ตาม
“ผมคิดว่าถ้าหากมีการระมัดระวังคอยประคับประคองจุดยืนกันเอาไว้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอแล้ว เราก็จะสามารถประคับประคองสันติภาพและเสถียรภาพของสองฟากช่องแคบไต้หวันเอาไว้ได้” ลี บอก
แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม “คุณกำลังอยู่ในระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างมากทีเดียว” เขากล่าวเสริม
|
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์ |
กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน