header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

แพทย์-จนท.สาธารณสุขอินโดนีเซียกว่า 350 คน ‘ติดเชื้อโควิด-19’ แม้ฉีดวัคซีน ‘ซิโนแวค’ แล้ว

ASEAN News

17 มิถุนายน 2564 :แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอินโดนีเซียกว่า 350 คน ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้ว และมีหลายสิบคนที่อาการหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ท่ามกลางกระแสคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนบางชนิดในการต่อต้านเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ระบาดง่ายและรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

บาได อิสโมโย หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุขประจำเขตกูดุส (Kudus) ในจังหวัดชวากลางเปิดเผยว่า แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic) และอยู่ระหว่างกักตัวที่บ้าน แต่ก็มีหลายสิบคนที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากมีไข้สูงและระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง

การระบาดที่เขตกูดุสนั้นเชื่อกันว่าเกิดจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta) ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย และสามารถแพร่กระจายได้เร็ว โดยขณะนี้เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ เต็มไปแล้วเกิน 90%

รัฐบาลอิเหนาเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกๆ ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวคของจีน

แม้จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 158 คนในเดือน ม.ค. เหลือเพียง 13 คนในเดือน พ.ค. ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังคงกังวลที่มีแพทย์และพยาบาลในเกาะชวาล้มป่วยเพิ่มขึ้น

“จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าพวกเขาติดโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดการติดเชื้อแบบฝ่าภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น เพราะเราทราบกันดีว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอินโดนีเซียส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนของซิโนแวค ซึ่งยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่” ดิกกี บูดิมัน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลีย ระบุ

 

ล่าสุด โฆษกซิโนแวคยังไม่ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียยังไม่ให้คำตอบเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์

วันที่ 1 มิ.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศอนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ผู้ผลิตเวชภัณฑ์สัญชาติจีน ในกรณีฉุกเฉินได้ ซึ่งถือเป็นวัคซีนจีนตัวที่ 2 ที่ได้รับไฟเขียวจาก WHO ตามหลังวัคซีนของซิโนฟาร์ม โดยผลการวัดประสิทธิภาพวัคซีนแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของซิโนแวคสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการได้ในอัตรา 51% และป้องกันการป่วยรุนแรง ตลอดจนการล้มป่วยถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 100%

ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต 53,000 คน ในจำนวนนี้เป็นแพทย์และพยาบาลถึง 946 คน

องค์กรจัดทำฐานข้อมูล LaporCOVID-19 ระบุว่า ทั่วอินโดนีเซียมีแพทย์อย่างน้อย 5 คน และพยาบาล 1 คนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งๆ ที่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยมีอยู่ 1 คนที่เพิ่งฉีดวัคซีนได้เพียงเข็มเดียว

รายงานอัปเดตล่าสุดของ WHO มีการเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อสกัดการแพร่ของเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ที่ “น่ากังวล” พร้อมย้ำว่าความต้องการเตียงผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถือเป็นสัญญาณเตือนว่ารัฐบาลจะต้องหาแนวทางรับมืออย่างเร่งด่วน

 

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน