header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

กองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจ บุกคุมตัว “ซูจี” ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต-มือถือ ทั่วโลกต่างรุมประณาม

ASEAN News

2 กุมภาพันธ์ 2564 :กองทัพพม่าทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยปราศจากการนองเลือด ด้วยการจู่โจมเข้าควบคุมตัวอองซานซูจี และประธานาธิบดีวิน มิ้น เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ (1 ก.พ.) พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี อ้างการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ชอบมาพากล ท่ามกลางเสียงประณามจากทั่วโลก ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีเผยแพร่ข้อความของซูจีที่เรียกร้องประชาชนอย่ายอมจำนนต่อเผด็จการและให้ออกมาประท้วงต่อต้าน

การทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นการปิดฉากทศวรรษแห่งการปกครองโดยพลเรือนในพม่า โดยกองทัพอ้างว่า การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีชนะท่วมท้น มีความผิดปกติหลายอย่างซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถคลี่คลายข้อสงสัยได้

เมียว ยุ้น โฆษกพรรคเอ็นแอลดีเผยว่า ซูจี และประธานาธิบดีวิน มิ้น ถูกควบคุมตัวจากบ้านพักในกรุงเนปิดอว์เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สภาจะเปิดประชุมครั้งแรกนับจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

ทหารติดอาวุธ ยานยนต์หุ้มเกราะ รถบรรทุกทหาร ตรึงกำลังปิดถนนรอบเมืองหลวง นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ทหารบินวนดูสถานการณ์ทั่วเมือง

หลังจากนั้นกองทัพได้ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีทีวีของตัวเอง โดยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้กุมอำนาจสูงสุด และแต่งตั้งอดีตนายพลมิ้น ส่วย ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดี เป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมให้สัญญาจะจัดการเลือกตั้งหลังครบกำหนดการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน

กองทัพย้ำข้อกล่าวหาว่า “มีความผิดปกติอย่างมโหฬาร” ในการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถตอบได้

ขณะเดียวกัน หน้าเฟซบุ๊กของหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีได้เผยแพร่คำแถลงของซูจีที่ร่างไว้ล่วงหน้าเนื่องจากคาดว่าจะมีการรัฐประหาร โดยในถ้อยแถลง ซูจีเรียกร้องประชาชนไม่ให้ยอมรับการรัฐประหารและให้ออกมาประท้วง

ซูจียังระบุว่า ทหารกำลังพาพม่ากลับสู่ยุคเผด็จการ

วิน เต็ง ผู้นำอาวุโสในฐานะหัวหน้าพรรคของเอ็นแอลดี โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า การยึดอำนาจของมิน อ่อง หล่าย สะท้อนความทะเยอทะยานส่วนตัวมากกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ

สกัดกั้นไม่ให้รวมตัวต่อต้าน

มีรายงานว่า กองทัพพม่าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัวต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการตัดการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในกรุงเนปิดอและนครย่างกุ้งที่เป็นเมืองหลวงเก่า

ที่ย่างกุ้งซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า ทหารได้เข้ายึดศาลาว่าการเมืองก่อนที่กองทัพจะออกแถลงการณ์ทางทีวี นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกหลายคันที่ขนเหล่าผู้สนับสนุนกองทัพวิ่งทั่วย่างกุ้งเพื่อฉลองการยึดอำนาจ ขณะที่สมาชิกเอ็นแอลดีได้รับคำสั่งจากกองกำลังความมั่นคงให้เก็บตัวอยู่บ้าน

ข่าวระบุว่า ในนครย่างกุ้งมีทหารและตำรวจปราบจลาจลรักษาการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลที่ประชาชนรีบออกไปซื้อข้าวของจำเป็นตุนไว้ และอีกหลายคนเข้าคิวรอถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม และต่อมาไม่นานธนาคารก็พากันระงับการให้บริการเนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีปัญหา

แหล่งข่าวในพรรคเอ็นแอลดียังเผยว่า มุขมนตรีของรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมนตรีในรัฐอื่นๆ ถูกควบคุมตัวเช่นเดียวกัน

ทั่วโลกรุมประณาม

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวออกคำแถลงอย่างรวดเร็วระบุว่า อเมริกาคัดค้านความพยายามในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยในพม่า และหากไม่ล้มเลิกการกระทำคราวนี้โดยเร็ว อเมริกาจะดำเนินการต่อผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

ด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำย่างกุ้ง ออกคำเตือนพลเมืองอเมริกันในพม่าว่า อาจเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและความวุ่นวายในหมู่พลเรือน

ขณะที่ แอนโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ประณามการควบคุมตัวผู้นำพรรคเอ็นแอลดี และเรียกร้องให้กองทัพพม่าเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน

สหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงอีกหลายประเทศ ต่างออกมาประณามการรัฐประหารของกองทัพพม่าเช่นเดียวกัน

 

ด้านจีนที่มีอิทธิพลอย่างมากกับพม่า ไม่ได้วิพากวิจารณ์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่แถลงบอกว่ารับรู้ว่าเกิดการยึดอำนาจ พร้อมกันนั้น หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็แถลงว่า “จีนเป็นเพื่อนบ้านซึ่งเป็นมิตรของพม่า และหวังว่าฝ่ายต่างๆ ในพม่าจะแก้ไขความแตกต่างของพวกเขากันอย่างถูกต้องเหมาะสมภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อพิทักษ์ปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและทางสังคม”

สำหรับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ของพม่า นับจากที่ประเทศนี้หลุดพ้นจากการปกครองของทหารอย่างยาวนานถึง 49 ปีในปี 2011

เอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดด้วยคะแนนเสียงกว่า 80% มากกว่าการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว

ทว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านา กองทัพออกมาโวยว่า มีความผิดปกติหลายอย่างในการเลือกตั้ง รวมทั้งยังอ้างว่า มีการโกงคะแนนกว่า 10 ล้านคะแนน

สัปดาห์ที่แล้ว มิน อ่อง หล่าย ประกาศว่า อาจเพิกถอนรัฐธรรมนูญปี 2008 ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง

นับจากประกาศเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 มีการรัฐประหารในพม่าเกิดขึ้น 2 ครั้งคือในปี 1948 และ 1962 แต่เวลาส่วนใหญ่ประเทศนี้อยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการของฝ่ายทหาร

ซูจี วัย 75 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขึ้นสู่อำนาจภายหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2015 หลังจากถูกควบคุมตัวในบ้านพักและต่อสู้กับเผด็จการทหารมานานนับสิบปี

ขณะเดียวกัน แม้ถูกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งฝ่ายทหารร่างขึ้นมา กีดกันไม่ให้รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ซูจีซึ่งดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ที่จัดตั้งกันขึ้นมาใหม่สำหรับเธอโดยเฉพาะ คือผู้นำตัวจริงของพม่า

ถึงแม้เธอยังได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากประชาชนพม่า แต่ชื่อเสียงของซูจีบนเวทีโลกเสียหายอย่างหนักหลังจากที่เธอไม่ได้หยุดยั้งการบังคับขับไล่มุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนออกจากพม่าในปี 2017 ซึ่งถูกนานาชาติประณามว่าเป็นพฤติการณ์ล้างเผ่าพันธุ์

 

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน