header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

“ว้า” เป็นตัวกลางจัดประชุมที่ป๋างซาง ทหารพม่า-AA นั่งโต๊ะเจรจากันครั้งแรก

ASEAN News

10 ธันวาคม 2563 :กองทัพว้าเป็นตัวกลางนัดตัวแทนกองทัพพม่ากับอาระกันนั่งโต๊ะเจรจาแบบเผชิญหน้ากันครั้งแรก ที่เมืองป๋างซางเมื่อวานนี้ ส่งสัญญาณดีต่อสันติภาพที่อาจเกิดขึ้นในยะไข่

สำนักข่าว DMG (Development Media Group) รายงานว่า เมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) ที่เมืองป๋างซาง เมืองหลวงในเขตปกครองตนเอง กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ตัวแทนกองทัพพม่าและตัวแทนกองทัพอาระกัน (AA) ได้พบปะเจรจาแบบเผชิญหน้ากันเป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงแนวทางสงบศึกระหว่าง 2 ฝ่าย

DMG ได้สัมภาษณ์ อู ญีราน โฆษก UWSA ที่ประจำอยู่ในเมืองล่าเสี้ยว รัฐชานเหนือ อู ญีราน ยืนยันว่าตัวแทนผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย ได้มาพูดคุยกันที่เมืองหลวงของว้าจริง แต่ผลการเจรจาจะออกมาอย่างไรนั้น เขาไม่ทราบ เพราะ UWSA เป็นเพียงตัวกลางในการนัดหมายและให้ใช้พื้นที่เพื่อการเจรจากันเท่านั้น

ครั้งนี้ นับเป็นรอบที่ 2 ในช่วงเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ที่ได้ตัวแทนผู้นำกองทัพพม่ากับ AA ได้มีการพูดคุยกัน หลังทั้ง 2 ฝ่ายสู้รบกันอย่างรุนแรงต่อเนื่องมานาน 2 ปี ถือเป็นสัญญาณดีต่อสันติภาพซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่และตอนใต้ของรัฐชิน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ตัวแทนผู้นำกองทัพพม่าและตัวแทนผู้นำกองทัพอาระกันได้มีการสนทนากันโดยตรงเป็นครั้งแรก ผ่านระบบออนไลน์ โดยได้ใช้เวลาพูดคุยกัน 30 นาที

หัวข้อการสนทนาในวันนั้น ได้แก่ หนทางลำเลียงอาหาร ยารักษาโรคที่จำเป็นไปให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สู้รบ การจัดการเลือกตั้งในเขตที่ได้ถูกยกเลิกไปจากประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้งพม่าเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม และแนวทางสร้างความเข้าใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง AA กับกองทัพพม่า

หลังจากวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปในพม่า จนถึงขณะนี้ไม่มีการสู้รบหนักระหว่าง AA กับกองทัพพม่าเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิเดือด ไม่ว่าจะเป็นในภาคเหนือของรัฐยะไข่ หรือในเมืองปะแลตวะ ภาคใต้ของรัฐชิน

 

ต้นเดือนธันวาคม ทั้งกองทัพพม่าและพันธมิตรภาคเหนือได้ประกาศยืดอายุประกาศหยุดยิงและระงับการเคลื่อนไหวทางทหารฝ่ายเดียว ในพื้นที่ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเคยเผชิญหน้ากันออกไปจนถึงสิ้นเดือนนี้

AA เป็น 1 ในสมาชิกพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพโกก้า ง(MNDAA) และกองทัพอาระกัน (AA)

ทั้ง 4 กลุ่มยังเป็นสมาชิกของ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FNPCC ซึ่งเป็นองค์กรของกองกำลังติดอาวุธที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่า และมีกองทัพว้า (UWSA) เป็นแกนนำ

สมาชิก FNPCC มี 7 กลุ่ม นอกจาก UWSA และพันธมิตรภาคเหนือ 4 กลุ่มแล้ว ยังมีพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) หรือกองทัพรัฐชานเหนือ กับกองทัพเมืองลา (NDAA) ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย

AA เป็นกองกำลังชาวยะไข่พุทธ เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 เพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ดูแล จัดการผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และลดบทบาทของกองทัพพม่าในภาคเหนือของรัฐยะไข่และภาคใต้ของรัฐชิน

ทหารของ AA ได้รับการฝึกโดยกองทัพคะฉิ่น (KIA) ทำให้ AA ได้เข้าไปมีส่วนสู้รบกับกองทัพพม่า ในนามพันธมิตรภาคเหนือ ในพื้นที่รัฐชานและคะฉิ่นมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยการรบที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

รัฐบาลพม่าพยายามเจรจาหาแนวทางสร้างสันติภาพกับพันธมิตรภาคเหนือมาตลอด โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนรับบทเป็นตัวกลาง การเจรจาครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 จากนั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่มีการเจรจาระหว่างพันธมิตรภาคเหนือกับรัฐบาลพม่าเกิดขึ้นอีก

สำหรับการสู้รบ 2 ฝ่าย ระหว่าง AA กับกองทัพพม่าในพื้นที่ภาคเหนือของรัฐคะฉิ่นกับภาคใต้ของรัฐชิน เริ่มอย่างจริงจังในเดือนมกราคม 2562 และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมาจนถึงก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน

เดือนกรกฎาคมปีนี้ รัฐบาลพม่าได้ประกาศลดชั้น AA จากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำให้ AA ไม่ถูกเชิญให้เข้าประชุมสันติภาพปางโหลงศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเนปิดอเมื่อเดือนสิงหาคม

ผลจากการที่รัฐบาลไม่เชิญ AA ทำให้สมาชิก FNPCC ที่เหลืออีก 6 กลุ่ม ปฏิเสธการเข้าประชุมครั้งนี้ไปด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประชุมที่ไม่ยุติธรรม

หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พันธมิตรภาคเหนือได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของพม่าที่จะเข้ามารับหน้าที่ในต้นปีหน้า ถอนชื่อ AA ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย และเริ่มกลับมาเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน