header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ชาติพันธุ์ 10 กลุ่มจัดประชุมออนไลน์ เดินหน้าสันติภาพกับรัฐบาลใหม่พม่า

ASEAN News

29 พฤศจิกายน 2563 :ตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มในพม่าที่เซ็น NCA ไปแล้ว จัดประชุมออนไลน์ครั้งแรก หลังเลือกตั้ง พร้อมส่งหนังสือแสดงความยินดีกับ NLD ระบุพร้อมร่วมมือเดินหน้าสันติภาพกับรัฐบาลใหม่

วันที่ 25-26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) ซึ่งประกอบด้วยผู้นำ หรือตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าแล้ว 10 กลุ่ม ได้จัดการประชุมขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ “ปางโหลงศตวรรษที่ 21” ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดที่กรุงเนปิดอ เมื่อเดือนสิงหาคม และหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 การประชุม PPST ครั้งนี้จึงจัดทางออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 คน ประกอบด้วยกรรมการ PPST 10 คน และทีมงานของกรรมการแต่ละคน

ผู้ร่วมประชุมต่างอยู่กันคนละสถานที่ ส่วนหนึ่งอยู่ในฐานบัญชาการในรัฐชาติพันธุ์ของตน ส่วนหนึ่งส่งสัญญาณมาจากกรุงย่างกุ้ง และส่วนหนึ่งนั่งประชุมอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ในฐานะรักษาการประธาน PPST เป็นประธานการประชุมครั้งนี้

การประชุมซึ่งใช้เวลา 2 วัน เป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานด้านสันติภาพ ที่ตัวแทนแต่ละกลุ่มได้ทำหลังเสร็จการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ที่กรุงเนปิดอ ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกันถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และแนวทางเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ ซึ่ง PPST ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่

ที่ประชุมได้ทำหนังสือแสดงความยินดีส่งไปถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี ที่ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกวาระหนึ่ง

เนื้อหาในหนังสือระบุว่า PPST พร้อมร่วมทำงานกับรัฐบาลใหม่ และเชื่อว่ากระบวนการสันติภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเดินหน้าไปได้ดีกว่าที่ผ่านมา

กระบวนการสันติภาพในรัฐบาลของอองซาน ซูจี ที่กำลังจะหมดวาระลง ส่วนใหญ่กระทำผ่าน 2 องค์กรด้วยกัน

องค์กรแรก ได้แก่ ศูนย์การปรองดองแห่งชาติและสันติภาพ(National Reconciliation and Peace Centre : NRPC) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาล มีอองซาน ซูจี เป็นประธาน คณะทำงานประกอบด้วยรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่จากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และกองทัพพม่า

อีกองค์กรหนึ่ง คือ PPST ที่เป็นตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มที่เซ็น NCA กับรัฐบาลไปแล้ว ประกอบด้วย

- สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA)
- สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
- องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
- กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
- แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
- แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
- พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
- สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
- พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
- สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

 

ส่วนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาล มี 7 กลุ่มที่รวมตัวกันในนาม Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee หรือ FPNCC เพื่อใช้เป็นองค์กรกลางในการเจรจากับรัฐบาล โดยไม่มีการแยกเจรจาเป็นรายกลุ่ม

สมาชิก FPNCC ได้แก่
- กองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
- กองทัพคะฉิ่น (KIA)
- กองทัพเมืองลา (NDAA)
- กองทัพโกก้าง (MNDAA)
- พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน (SSPP/SSA)
- กองทัพตะอั้ง (TNLA)
- กองทัพอาระกัน (AA)

ใน FPNCC ยังมีกลุ่มย่อยซึ่งเป็นการรวมกันของกองทัพคะฉิ่น กองทัพโกก้าง กองทัพตะอั้ง และกองทัพอาระกัน ใช้ชื่อว่า “พันธมิตรภาคเหนือ” และดำเนินการสู้รบกับกองทัพพม่ามาตั้งแต่เมื่อปลายปี 2559

ทุกวันนี้ พื้นที่สู้รบของพันธมิตรภาคเหนือกับกองทัพพม่ามี 2 จุดใหญ่ๆ จุดแรก เป็นการรบของกองทัพพม่ากับกองทัพอาระกัน ในพื้นที่รอยต่อตั้งแต่ภาคเหนือของรัฐยะไข่ขึ้นไปถึงภาคใต้ของรัฐชิน ส่วนอีกจุดหนึ่ง เป็นการรบที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือของรัฐฉาน ระหว่างกองทัพพม่า กับกองทัพตะอั้ง กองทัพคะฉิ่น และกองทัพโกก้าง

ในการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 4 ที่เนปิดอเมื่อเดือนสิงหาคม FPNCC ปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าประชุม โดยให้เหตุผลว่าเป็นการประชุมที่ไม่ชอบธรรม เพราะรัฐบาลไม่ได้เชิญตัวแทนจากกองทัพอาระกันเข้าร่วมด้วย

เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลพม่าได้ใส่ชื่อกองทัพอาระกันให้อยู่ในบัญชีกลุ่มก่อการร้าย ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม หลังผ่านการเลือกตั้งทั่วไปได้ไม่ถึงสัปดาห์ สมาชิกพันธมิตรภาคเหนือได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาถอนชื่อกองทัพอาระกันออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย.
แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน