header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

เอเอฟพีวิเคราะห์ "การคอร์รัปชั่น" ของพ.ต.ท.ทักษิณคือเชื้อไฟของการประท้วงในไทย

ASEAN News

20 มกราคม 2557 : นายวรนัย วาณิชกะ คอลัมนิสต์การเมืองจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ "เดอะ แบงคอก โพสต์" กล่าวกับเอเอฟพีว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังพยายามขจัดอิทธิพลของพ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยการขับไล่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาว โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเธอและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ละเมิดกฎหมายหลายข้อเสียเอง

คนไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างจริงจังและไม่สามารถยอมรับได้ หากพบว่าตัวเองต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่ชอบธรรม เมื่อทุกคนล้วนมีสิทธิ์ที่จะกัดแอปเปิ้ลคนละคำ แต่อยู่มาวันหนึ่งการที่พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาติดป้ายที่ต้นแอปเปิ้ลว่า แอปเปิ้ลทั้งต้นนี้เป็นทรัพย์สินของตระกูลชินวัตร ถือเป็นการกระทำที่อันตรายใหญ่หลวง

กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวหาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ภายใต้การควบคุมของพี่ชาย มหาเศรษฐีแห่งวงการสื่อสารซึ่งหันเหเข้าสู่วงการเมือง ก่อนถูกทหารโค่นอำนาจเมื่อปี 2549 และต้องเดินทางออกไปลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษจำคุกฐานใช้อำนาจในทางมิชอบ ที่เจ้าตัวยืนกรานมาตลอดว่าเป็นข้อกล่าวหาที่แฝงด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง

 

ฝ่ายต่อต้านโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณอย่างหนักหน่วงว่า ชนะการเลือกตั้งทั่วไปทุกครั้งตลอดกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยนโยบายประชานิยม "ทักษิโนมิกส์" ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และระบบประกันสุขภาพราคาถูก ซึ่งแท้จริงแล้วก็คือ "การซื้อเสียง" ด้วยนโยบาย หนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใช้นามแฝงว่า "ร็อคกี" วัย 24 ปี กล่าวว่า จริงอยู่ที่พ.ต.ท.ทักษิณกอบโกยจากประเทศไทยไปมากมาย แต่เขายังเปิดช่องโหว่รูใหญ่ที่เป็นความผิดพลาดครั้งมโหฬาร คือทุกสิ่งที่เขาทำสามารถมองเห็นและตรวจสอบได้

ขณะที่บรรดาแกนนำจัดการชุมนุมในครั้งนี้ ประกาศกร้าวว่า นี่คือสงครามประชาชนเพื่อต่อต้านการทุจริต พร้อมกับเรียกร้องให้กองทัพและองค์กรอิสระให้ความสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการสกัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งแทบทุกฝ่ายเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยังคงได้รับชัยชนะหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หลังถูกทหารขับพ้นอำนาจเมื่อกว่า 7 ปีที่แล้ว ศาลสูงพิพากษาให้พ.ต.ท.ทักษิณรับโทษจำคุก 2 ปี ในคดีจัดซื้อที่ดินซึ่งมีภรรยาของตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้เมื่อปี 2553 ศาลยังสั่งยืดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณราว 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 46,200 ล้านบาท ) หรือครึ่งหนึ่งที่อดีตนายกฯไทยผู้นี้ครอบครองอยู่ ฐานเจตนาหลบเลี่ยงการเสียภาษีซึ่งเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายกิจการบริษัทโทรคมนาคมของตัวเอง ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ *อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณยืนกรานความบริสุทธิ์ และอ้างว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของการแก้แค้นจากศัตรูทางการเมือง

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาส่วนตัวด้านกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า แกนนำกล่มผู้ชุมนุมใช้ข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชั่นดังกล่าวเป็นเครื่องมือดึงดูดประชาชน พร้อมกับยืนยันว่า ข้อกล่าวหาต่างๆที่มีการหยิบยกขึ้นมาโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ล้วนเป็นการยกเมฆขึ้นมาเองทั้งสิ้น

หนึ่งในนโยบายที่มาจากแนวคิดประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนำมาใช้ คือโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่ายว่า เป็นนโยบายที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ และดึงงบประมาณส่วนกลางออกไปจนแทบไม่เหลือ เพื่อนำไปค้ำจุนฐานเสียงทางการเมืองของตระกูลชินวัตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร

ปัจจุบันมีนักการเมืองไทยน้อยคนนักที่ไม่มีส่วนเกี่ยวพันการคอร์รัปชั่น ทั้งที่ส่วนใหญ่ออกมาประกาศตัวว่าต่อต้านการทุจริตและฉ้อโกงทุกรูปแบบ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าของธุรกิจอาบอบนวดชื่อดังที่ผันตัวมาเล่นการเมือง ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าเคยจ่ายเงินสินบน

แม้แต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคนสำคัญของกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เคยถูกฟ้องร้องในข้อหาคอร์รัปชั่นมาแล้วเช่นกัน แต่กระนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มองว่า นั่นคืออดีตของนายสุเทพ ปัจจุบันชายผู้นี้เปลี่ยนไปแล้ว และผู้ที่กำลังเป็น "ปัญหา" คือพ.ต.ท.ทักษิณต่างหาก

เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ( ทีไอ ) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เผยดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ( ซีพีไอ ) ประจำปี 2556 ว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 อันดับ โดยเป็นการครองอันดับร่วมกับมอลโดวาและปานามา ซึ่งมีอยู่ 35 คะแนน ร่วงจากอันดับที่ 88 เมื่อปี 2555

ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ภาคธุรกิจยอมจ่ายเพิ่มจากมูลค่าสัญญาอีกระหว่างร้อยละ 25-35 เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพิ่มจากสถิติเมื่อปี 2533 ราวร้อยละ 5-10

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับเอเอฟพีว่า จริงอยู่ที่ในอดีตคนไทยยอมจ่ายเพื่อให้งานเดินเร็วขึ้น ซึ่งเป็น "ธรรมเนียม" ของการคอร์รัปชั่น แต่ตอนนี้กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เดลินิวส์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน