header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

IMF เตือนไทยเสี่ยงเจอวิกฤต หากยังดื้อไม่เลิกจำนำข้าว-ประชานิยม

ASEAN News

14 พฤศจิกายน 2556 : รอยเตอร์/วอลล์สตรีทเจอนัลด์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกร้องรัฐบาลไทยยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวและถอนสมอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประชานิยมอื่นๆ บางอย่างเพื่อความสมดุลทางงบประมาณและจำกัดตัวเลขหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หนุนจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนโดยตรงแทน

ในรายงานทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำปี ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงการทำงานในความรับผิดชอบด้านตรวจตราธนาคารรัฐและสถาบันการเงินต่างๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งกำลังตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟได้แนะนำในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (11) ด้วยว่า ขณะที่ไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ จากการไหลเวียนของเงินลงทุนอันผันผวนและความไม่แน่นอนของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลก รัฐบาลควรสร้างความอุ่นใจว่ามีเงินเพียงพอรับมือกับความช็อคต่างๆ

 

 

ทั้งนี้ ในข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่จะเผยแพร่ออกมาในสัปดาห์หน้า คาดหมายว่าชาติเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้จะหลุดพ้นจากภาวะถดถอย แต่การส่งออกซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโทยและการบริโภคของเอกชนยังคงอ่อนแอ ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์คาดคะเนว่ารัฐบาลจะเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเข้มแข็ง

รัฐบาลบอกว่าที่มั่นทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง แต่ทางไอเอ็มเอฟมองว่าการใช้จ่ายในโครงการประชานิยมต่างๆ นานากำลังทำให้คำมั่นสัญญาสร้างสมดุลทางงบประมาณตกอยู่ในความเสี่ยง ไอเอ็มเอฟระบุุว่า ตัวเลขขาดดุลของรัฐบาลกลางจะเพิ่มเป็นร้อยละ 3.4 ของจีดีพีของปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนกันยายน สืบเนื่องจากอัตราภาษีนิติบุคคลระดับต่ำ และการลดหย่อนภาษี และโดยรวมแล้วมีความเป็นไปได้ที่หนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 53 ของจีดีพีภายในสิ้นปี 2018

เจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟแนะนำในรายงานว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาลดอุดหนุนราคาน้ำมันและขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือไม่ก็ตัดลดเงินลดหย่อนภาษีบางอย่าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางงบประมาณ “ไอเอ็มเอฟเล็งเห็นข้อดีอย่างชัดเจนต่อการทดแทนโครงการอุดหนุนราคาข้าวด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินลงไปที่ครัวเรือนเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำโดยตรง” * การถอยกลับโครงการรับจำนำข้าวเพื่อชาวนา อาจช่วยรัฐบาลลดการขาดดุลไปได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน หากทำแบบนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็เสี่ยงสูญเสียการสนับสนุนจากชาวชนบทอันสำคัญ

พวกชาวนาช่วยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2011 เมื่อเธอประกาศฟื้นคืนนโยบายอุดหนุนและแจกจ่ายที่เคยช่วยให้ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของเธอชนะเลือกตั้งมาแล้ว 2 สมัย อย่างไรก็ตามนโยบายจำนำข้าวคือหายนะ ด้วยที่ขาดทุนเฉพาะในปี 2011-2012 ถึง 136,000 ล้านบาท จนทำให้หลังจากนั้นรัฐบาลต้องงดรายงานการขาดทุน แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีคลัง คาดหมายว่าขาดทุนรวมถึง 425,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในท่าทีตอบกลับต่อรายงานของไอเอ็มเอฟ ทางเจ้าหน้าที่ไทยบอกว่า โครงการต่างๆ ของรัฐบาลช่วยเพิ่มผลิตภาพและสนับสนุนให้ชาวนาลงทุนในเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ “แต่พวกเขาก็ตระหนักถึงความกังวลของเราต่อประสิทธิผลและความโปร่งใสของโครงการจำนำข้าวและบ่งชี้ว่าการลดราคาจำนำหรือจำกัดจำนวนการซื้ออาจเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้นโยบายนี้ยังธำรงอยู่ได้ต่อไป”

นอกจากนี้แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) หรือธนาคารของรัฐที่ปล่อยกู้ในโครงการต่างๆของรัฐบาล หลังการกู้ยิมจากธนาคารเหล่านี้ได้แตะระดับร้อยละ 27 ของสินเชื่อธนาคารโดยรวมเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่การตรวจตราการบริหารงานของพวกเขาก็ไม่เข้มข้นเท่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

ส่วนความกังวลอื่นๆ ยังรวมไปถึงสินเชื่อสหกรณ์ทั้งหลายและด้วยหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แตะระดับร้อยละ 78 ของจีดีพีเมื่อปีก่อน รวมแล้วทำให้อัตราสินเชื่อต่อจีดีพีทะยานสู่ 115 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เหนือว่าแนวโน้มระยะยาวของไทยเองและอัตราเศรษฐกิจชาติอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงกัน

สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอนัลด์รายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยบอกกับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (12) ว่าเขายังไม่เห็นคำแนะนำของไอเอ็มเอฟและไม่ขอแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ แถมยังบอกด้วยว่าทางกระทรวงการคลังไม่กังวลต่อนโยบายอุดหนุนราคาข้าวแต่อย่างใด

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน