header-photo

asean-info.com

 

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) - อารัมภบท

 

เราบรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน

รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสำเร็จอย่างสูง และการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน

ระลึกถึงการตัดสินใจจัดทำกฎบัตรอาเซียน ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน

ตระหนักถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกัน และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีวัตถุประสงค์และชะตาร่วมกัน

ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน

รวมกันด้วยความปรารถนาและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และแรงดลใจที่สำคัญของอาเซียน

เคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงในกิจการภายใน ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย

ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

ตกลงใจที่จะประกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต และตั้งมั่นให้ ความอยู่ดีกินดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นแกนของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน

เชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคต

ผูกพันที่จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือ และการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2

ในการนี้ จึงตกลงใจที่จะจัดทำกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้

และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้

 

กลับสู่หน้าหลัก เนื้อหา/โครงสร้างกฎบัตรอาเซียน