header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

ฟิลิปปินส์ยังล้มเหลว ใช้ศก.โตดันจ้างงานเพิ่ม
 
ASEAN News

8 กรกฏาคม 2556 : ชั่วโมงการทำงานที่ยาวเหยียดสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราการเติบโต 7.8 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หลังจากที่โต 6.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2555 การเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนของการก่อสร้างทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีกรุงมะนิลา เมืองหลวงเป็นจุดศูนย์กลางของความเฟื่องฟูในภาคการก่อสร้าง ทว่า แม้จะมีผู้ที่ต้องทำงานพิเศษนอกเหนือจากเวลางานตามปกติเป็นจำนวนมากขึ้น แต่มีการจ้างงานใหม่เพิ่มน้อยมาก

ด้วยอัตราว่างงาน 7.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี แรงกดดันที่มีต่อประธานาธิบดีเบนิกโน อาคีโน ที่ดำรงตำแหน่งมา 3 ปี ครึ่งทางจากวาระ 6 ปี เริ่มที่จะเพิ่มมากขึ้น จากการที่คำมั่นสัญญาว่าจะลดความยากจนของเขายังไม่ส่งผลออกมามากนัก ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนนี้ คาดว่าอาคีโนจะเปิดเผยแผนการที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่และลดความยากจน แต่ดูเหมือนงานของเขาจะยากจากการที่นายจ้างยังคงไม่เต็มใจที่จะจ้างพนักงานใหม่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วก็ตาม ผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมไต่ระดับสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 7.1 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลา 3 ปี นับถึงปี 2555 เทียบกับ 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อช่วงเวลา 3 ปีก่อนหน้า ทว่าการจ้างงานของโรงงานอุตสาหกรรมกลับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ก่อนหน้านั้น ลดลง 1.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2550-2552 ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลของทางการระบุว่ามีชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากขึ้นที่ต้องทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จำนวนของผู้ที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 24 ล้านคนจากเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า ขณะที่ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเกือบ 1 ใน 5 มาอยู่ที่ 13.1 ล้านคน

 

เรย์ คาลอย ประธานสมาคมธุรกิจฟิลิปปินส์-เซบู บอกว่า นักธุรกิจจำนวนมากยังคงอยู่ในภาวะ "รอและเฝ้าดู" สถานการณ์ "ความต้องการสูงมากในตอนนี้ แต่เราจำเป็นต้องแน่ใจว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะยั่งยืนก่อนที่จะจ้างพนักงานเพิ่ม" เขากล่าว และว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายในการไล่พนักงานออกเมื่อคุณเผชิญหน้ากับขาลงเนื่องจากมีข้อกำหนดทางกฎหมายที่ซับซ้อนอยู่" คาลอยเสริมว่า นอกจากการเพิ่มชั่วโมงการทำงานของพนักงานที่มีอยู่แล้ว ธุรกิจต่างๆ ยังใช้วิธีในการซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยในการลดการพึ่งพาแรงงานแทนที่จะจ้างคนงานเพิ่ม" ซึ่งนำไปสู่การทำให้เกิดสถานการณ์ ที่สัดส่วนของชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับเงินน้อยกว่าระดับเส้นแบ่งความยากจน คือ 9,385 เปโซ (ราว 6,730 บาท) ต่อคนต่อปี ลดลงเพียงเล็กน้อย จาก 28.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อครึ่งแรกของปี 2552 มาอยู่ที่ 27.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2555 ซึ่งทำให้แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลของอาคีโนเพิ่มขึ้น

รามอน คาซิเพิล ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้งบอกว่า "ประชาชนเห็นว่าความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นในเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้าน, การทุจริต ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดการเงินเพิ่มขึ้น ถึงตอนนี้ พวกเขาต้องการให้รัฐบาลลงมือทำมากยิ่งขึ้นในเรื่องความอยู่ดีกินดีของผู้คน" นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากระบุว่า เรื่องนั้นต้องพึ่งพาการไหลเข้ามาของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) อย่างมาก ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีเฉลี่ยแล้วเพียงแค่ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งถ้าหากเอฟดีไอเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า จึงจะนำมาซึ่งตำแหน่งงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : มติชน

 

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน