header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

การสำรวจสำมะโนประชากรพม่าได้ผลน้อยกว่าที่คาด 9 ล้านคน

ASEAN News

31 สิงหาคม 2557 : เอเอฟพี - ผลการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ ของพม่า ระบุว่า พม่ามีประชากร 51 ล้านคน ทางการพม่าเผยวานนี้ (30) ซึ่งจำนวนที่สำรวจได้นั้นน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าราว 9 ล้านคน

การสำรวจครั้งสุดท้ายมีขึ้นในปี พ.ศ.2526 และทางการได้คาดการณ์ว่า ประชากรของประเทศน่าจะอยู่ที่ประมาณ 60 ล้านคน

การสำรวจสำมะโนประชากร ที่นานาประเทศต่างวิตก หลังทางการปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อยระบุชาติพันธุ์ของตนว่าเป็นโรฮิงญา ได้จัดทำขึ้นในเดือน มี.ค.และ เม.ย.

“ผลการสำรวจประชากรในพม่าชั่วคราวอยู่ที่ 51,419,420 คน ประชากรเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าเพศชาย 1.7 ล้านคน” ขิ่น ยี รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากร กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ (30) และว่าผลการสำรวจแบบสมบูรณ์ที่รวมทั้งข้อมูลชาติพันธุ์ และศาสนาจะเผยแพร่ในเดือน พ.ค.2558

 

 

ประชาชนราว 1.2 ล้านคน หายไปจาการสำรวจสำมะโนในพื้นที่บางส่วนของรัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น และรัฐกะเหรี่ยง ตามการระบุว่าของ ไค ไค โซ ผู้อำนวยการสำนักตรวจคนเข้าเมือง และให้ข้อมูลว่า ตัวเลขคาดการณ์ประชากรที่ 60 ล้านคนนั้นมีที่มาจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2526 และอัตราการเติบโตของประชากรก่อนหน้านี้ และอัตราการเกิดที่ลดลงอาจเป็นสาหตุที่ทำให้จำนวนประชากรในการสำรวจมะโนประชากรครั้งนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้

ความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ ปะทุขึ้นจนกลายเป็นเหตุนองเลือดในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในการปะทะ และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีก 140,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา

“เนื่องจากความขัดแย้งทำให้การสำรวจสำมะโนประชากรมีขึ้นไม่ครบทุกเขตทุกหมู่บ้าน” ขิ่น ยี กล่าว

พม่า ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าจำนวนมากจะสามารถตามรอยครอบครัวย้อนหลังไปหลายชั่วอายุคนในพม่าก็ตาม

นักวิจารณ์ได้เตือนสหประชาชาติ และประเทศผู้บริจาคในการดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรว่า การนับจำนวนสามารถก่อให้เกิดความไม่สงบ ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับคำถามทางชาติพันธุ์ และศาสนาในการสำรวจ

การปะทุขึ้นของความรุนแรงเพียงไม่กี่วันก่อนการสำรวจสำมะโนประชากรจะเริ่มขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่ และทำให้ผู้คนอีกหลายหมื่นคนที่ไร้ที่อยู่อาศัยขาดแคลนน้ำ อาหาร และการดูแลทางการแพทย์ และเหตุจลาจลยังทำให้เด็กหญิงอายุ 11 ปี เสียชีวิต จากกระสุนปืนที่ตำรวจยิงเตือนเพื่อสลายกลุ่มคนในเมืองซิตตะเว นอกจากนั้น ชาวพุทธท้องถิ่นยังได้กล่าวหาหน่วยงานช่วยเหลือต่างชาติว่า ลำเอียงเข้าข้างชาวมุสลิม

การสำรวจสำมะโนประชากรดำเนินการสำรวจโดยครูจำนวนมาก และคำถามทั้งหมด 41 ข้อ ถูกออกแบบเพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดนโยบายภาพรวมของประเทศ หลังประเทศหลุดพ้นจากการปกครองของทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษในปี 2554.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน