header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

“ฮุนเซน” ชี้สหภาพแรงงานต้องรับผิดชอบหากนักลงทุนปิดโรงงานย้ายหนี

ASEAN News

25 กุมภาพันธ์ 2557 : ซินหวา - นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา กล่าววันนี้ (25) ว่า สหภาพแรงงานที่เป็นพันธมิตรฝ่ายค้านที่ยั่วยุปลุกปั่นให้แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปผละงานประท้วงเรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการปิดตัวของโรงงานใดๆ ก็ตามในอนาคต

“รัฐบาลทำงานอย่างหนักในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน และได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตเพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานทุกปี” นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวระหว่างเข้าร่วมพิธีเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.พระสีหนุ

“เราจะเฝ้ารอดู ถ้าโรงงานปิดเพราะการชุมนุมประท้วง หรือผละงานเรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น เมื่อนักลงทุนปิดโรงงาน แรงงานที่ตกงานควรชุมนุมประท้วงต่อต้านบรรดาสหภาพที่ยั่วยุเหล่านั้น และเรียกร้องให้ผู้ที่ยั่วยุปลุกปั่นหางานให้” ฮุนเซน กล่าว

อัตราค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน

“ปัจจุบันค่าแรงสำหรับแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของกัมพูชาสูงกว่าแรงงานในลาว บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และพม่า” ผู้นำกัมพูชา กล่าว

 

 

ความเห็นของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาครั้งนี้ มีขึ้นหลังสหภาพแรงงานที่สนับสนุนฝ่ายค้าน และสมาคมต่างๆ 18 กลุ่ม รวมตัวกัน และได้กระตุ้นแรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า คว่ำบาตรการทำงานล่วงเวลาตั้งแต่วันจันทร์ (24) เพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็น 160 ดอลลาร์ และปล่อยผู้ชุมนุมประท้วงที่ถูกจับ 21 คน

ประธานสหภาพกลุ่มเคลื่อนไหวแรงงานระบุว่า การผละการทำงานล่วงเวลาจะดำเนินไปจนถึงวันศุกร์นี้ (28) และสหภาพจะยังเป็นแกนนำในการการผละงานอยู่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 12-19 มี.ค. หากการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าประกอบด้วยโรงงานมากกว่า 900 แห่ง มีการจ้างแรงงานราว 600,000 คน นับเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้จากต่างชาติแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศถึง 5,530 ล้านดอลลาร์

ประธานสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชาออกมากล่าวเตือนว่า หากกลุ่มสหภาพแรงงานยังคงวางแผนที่จะจัดการชุมนุมผิดกฎหมายในเดือนหน้า เพื่อเรียกร้องค่าแรง 160 ดอลลาร์ต่อเดือน โรงงานในประเทศราว 80% จะปิดทำการ และโรงงานบางแห่งอาจจะย้ายไปตั้งในประเทศอื่นๆ

การผละงานประท้วงของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปครั้งล่าสุด ที่เริ่มขึ้นในปลายเดือน ธ.ค. และต้นเดือน ม.ค. จบลงด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และถูกจับกุมตัวอีก 21 คน นับแต่นั้นรัฐบาลได้สั่งห้ามการชุมนุมทุกรูปแบบอย่างไม่มีกำหนดเพื่อรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเ้จอร์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน