header-photo
 

ข่าวสารอาเซียน (ASEAN News)

 

สหภาพแรงงานเขมรขู่ประท้วงใหญ่เดือนหน้า หากรัฐไม่เพิ่มค่าแรง-ปล่อยตัวผู้ชุมนุม

ASEAN News

13 กุมภาพันธ์ 2557 : ซินหวา - สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้าน 9 กลุ่มของกัมพูชา ประกาศเตือนว่าจะนำการผละงานประท้วงนาน 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 12-19 มี.ค. หากศาลไม่ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 21 คน และรัฐบาลไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็น 160 ดอลลาร์

ประธานกลุ่มสหภาพเคลื่อนไหวของแรงงาน กล่าวว่า แกนนำสหภาพแรงงานทั้ง 9 กลุ่ม ได้พบหารือกันในวานนี้ (12) และมีมติรับรองกำหนดวันชุมนุมประท้วง ซึ่งสหภาพจะจัดพิมพ์ใบปลิว 100,000 ใบ ประกาศวันผละงานประท้วง และการจัดการชุมนุมตามข้อเรียกร้อง

“ข้อตกลงยังรวมถึงการเรียกร้องการปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 21 คน การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 160 ดอลลาร์ต่อเดือนให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และการยุติข้อห้ามการจัดชุมนุมประท้วงของรัฐบาล” หนึ่งในแกนนำสหภาพแรงงาน กล่าวหลังการประชุม

 

 

เมื่อวันอังคาร (11) ศาลอุทธรณ์ปฏิเสธที่จะให้ประกันตัวผู้ชุมนุม 21 คน ที่ถูกควบคุมตัวหลังเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างการชุมนุมประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงของเหล่าคนงานตัดเย็บเสื้อผ้าเมื่อต้นเดือน ม.ค. ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และรัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามจัดการชุมนุมนับแต่นั้น

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่อนุญาตจัดการชุมนุม กองกำลังรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ที่ต้องปกป้องผู้เข้าร่วม แต่หากการชุมนุมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความไม่สงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะดำเนินมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคม

การชุมนุมประท้วงหลายครั้งจัดขึ้นโดยการนำของพรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศ นับตั้งแต่การเลือกตั้งพิพาทในเดือน ก.ค. เมื่อปีก่อน ซึ่งผลการเลือกตั้งระบุว่า พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ชนะเสียงข้างมากได้ที่นั่งในสภาไป 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคกู้ชาติกัมพูชาของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง

ฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งดังกล่าว อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งร้ายแรง และได้คว่ำบาตรรัฐสภา และจัดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการลาออกของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และจัดการเลือกตั้งใหม่

สหภาพแรงงานแนวร่วมฝ่ายค้านได้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านด้วยการนำแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปจัดชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรง แม้ว่ารัฐบาลได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานจาก 80 ดอลลาร์ เป็น 100 ดอลลาร์ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนนี้

อุตสหากรรมผลิตรองเท้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประกอบด้วยโรงงานมากกว่า 900 แห่ง มีแรงงานราว 600,000 คน นับเป็นภาคส่วนที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุด โดยในปี 2556 ภาคส่วนอุตสาหกรรมนี้ทำรายได้จากต่างประเทศ 5,530 ล้านดอลลาร์.

แหล่งข้อมูล ภาพและข่าว : เมเนเจอร์ .    

กลับหน้าหลัก ข่าวสารอาเซียน