header-photo

asean-info.com

อาเซียน (ASEAN)

 

อาเซียนถือเป็นความสำเร็จทางการทูตที่เริ่มต้นจากความคิดของคนไทย โดยอาเซียนเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 จากแนวคิดของ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในสมัยนั้น โดยผู้แทนของประเทศภาคีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มาประชุมกันที่แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี

 

 

ในการประชุมครั้งนั้น ดร.ถนัดได้เสนอให้มีการรวมตัวสร้างเป็นสมาคมประชาชาติแห่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations - ASEAN) ส่งผลให้ อาเซียน (ASEAN) ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 (วันอาเซียน) ในวันนั้นมีการลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ (ปฏิญญาอาเซียน) ที่พระราชวังสราญรมย์ โดยมีผู้แทนจากประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 5 ประเทศ ร่วมลงนามคือ

 

   1. นายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศอินโดนีเซีย)
   2. นายตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี ประเทศมาเลเซีย)
   3. นายนาร์ซิโซ รามอส (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศฟิลิปปินส์)
   4. นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศสิงคโปร์)
   5. พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ประเทศไทย)

 

ผู้แทนจาก 5 ประเทศลงนามก่อตั้งอาเซียน

ผู้แทนจาก 5 ประเทศลงนามก่อตั้งอาเซียน

 

การก่อตั้งอาเซียนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง การสร้างสรรค์ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และวัฒนธรรม การกินดีอยู่ดีบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผล ประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก

 

ปัจจุบัน อาเซียนมีสมาชิกแล้วถึง 10 ประเทศ ได้แก่ สมาชิก ลำดับที่ 1-5 ไทย อินโดนีเซีย มาเลยเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510)

 

   สมาชิกลำดับที่ 6 บรูไนดารุสซาลาม (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2527)
   สมาชิกลำดับที่ 7 เวียดนาม (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม พ.ศ. 2538)
   สมาชิกลำดับที่ 8-9 ลาว และเมียนมาร์ (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม พ.ศ. 2540)
   สมาชิกลำดับที่ 10 กัมพูชา (เข้าร่วมเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542)

 

ปัจจุบันมีสำนักเลขาธิการใหญ่อาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

 

จำนวนสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศของอาเซียนนั้น คิดเป็นจำนวนประชากร ราว 600 ล้านคน หรือเกือบ 10 เปอร์เช็นต์ของประชากรทั้งหมดที่มีในโลก นอกจากนั้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งยังอยู่ใกล้กับประเทศจีน และอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก ส่งผลให้อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่น่าสนใจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก

 

นอกจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศแล้ว อาเซียนยังมีประเทศคู่เจรจา (Dialogue partners) ที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในทุกๆด้านอย่างค่อนข้างใกล้ชิดอีก 9 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และอีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือยูเอ็น)